แปลก พิบูลสงคราม

อดีตนายกรัฐมนตรีไทย
(เปลี่ยนทางจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม)

จอมพล แปลก พิบูลสงคราม (14 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507) เป็นนักการเมืองชาวไทย เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของไทย

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

คำพูด

แก้ไข
  • ตามที่ท่านสมาชิกประเภทที่ 1 ให้ข้าพเจ้าในฐานะที่เป็นนายกอยู่ปัจจุบันนี้ ให้ความเห็นแก่ที่ประชุม ข้าพเจ้าก็ยินดีที่จะให้ความเห็นแก่ที่ประชุม และก็อยากจะให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมา และข้าพเจ้าจะไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ข้าพเจ้าอยากจะเล่าเสียก่อน ว่าในการที่เราที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมานั้น สาเหตุของการเปลี่ยนการปกครอง ท่านทั้งหลายคงทราบแล้ว ว่าเพราะเหตุที่สถานะบ้านเมืองของเราได้ถอยลงไป จนเราอาจจะกล่าวได้ว่าถึงขีดแล้วที่พวกเราจะต้องเปลี่ยนการปกครอง เพื่อช่วยกันมาปรับปรุงและสร้างชาติของเราต่อไป และด้วยเหตุที่เราได้เปลี่ยนการปกครองมานี้เอง จึงเห็นได้ชัดแล้วว่า ท่านสมาชิกทั้งฝ่ายที่เป็นผู้เสนอก็ดี และฝ่ายค้านก็ดี คงไม่ปฏิเสธว่า การสร้างชาติของเราได้เจริญก้าวหน้ามาเป็นที่พอใจ สมควรแก่วาระที่ได้ผ่านพ้นมาแล้ว 8 ปี ในการที่เปลี่ยนการปกครองมาทั้งนี้ก็เห็นได้แล้วว่า เราได้เปลี่ยนมาเพื่อที่จะทำงานเพื่อที่จะสร้างชาติในการที่เราจะช่วยกันทำงานให้บ้านเมืองของเราก้าวหน้านั้น ก็อยู่ด้วยความสามัคคีให้บ้านเมืองอยู่ในสันติสุข และการที่บ้านเมืองจะอยู่ในสันติสุขนั้น ก็อยู่ด้วยระเบียบที่ดีที่เหมาะสมแก่ชนชาติของเรา เพราะฉะนั้นคณะราษฎร คือคณะของข้าพเจ้านี้เองที่ได้เปลี่ยนการปกครองนั้น ก็ได้ศึกษาและไต่สวนสอบสวนทุกสิ่งทุกอย่าง และเห็นว่าระเบียบการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญนี้ จะเป็นกรณีส่งเสริมและจะเป็นกรณีให้ชาติไทยเรายึดมั่นอยู่ในความสันติสุขแล้ว และช่วยกันประกอบการสร้างชาติให้เจริญสมกับความปรารถนาของทุกท่านที่ต้องการ ไม่ว่าตั้งแต่เด็กกะทั่งผู้ใหญ่ ข้าพเจ้าอยากจะเล่าถึงประวัติของการเปลี่ยนการปกครองนิดหน่อย ในการเปลี่ยนการปกครองนี้นั้น เราได้ร่วมกันเปลี่ยนการปกครองมา ซึ่งเรียกว่า คณะราษฎร และได้ทำงานอันนี้สำเร็จมาแล้วจนกะทั่งบัดนี้ แต่ว่าก่อนนั้นเราได้ศึกษากันอย่างไร เราได้ศึกษากันว่า เราเห็นบ้านเมืองเสื่อมโทรมเช่นนี้ ไม่มีทางอื่นที่เราจะได้ทำงานในหน้าที่ที่เราเป็นพลเมืองดีผู้หนึ่ง ควรจะมีสิทธิมีเสียงในการปกครองชาติบ้านเมือง เราจึงได้ยอมเสียสละ คือ เรายอมตาย และเราไม่คาดหมายเลยว่า เราจะได้มายืนพูดอยู่ในที่นี้ แต่กระนั้นก็ตาม เรารู้ว่า เราจะตาย แต่ทำไมเราจึงทำเล่า เราทำเพื่อเป็นตัวอย่าง ถ้าแม้ว่าเราจะตายไปแล้ว เราอยากจะให้คนรุ่นหลังทำตาม เพื่ออะไร เพื่ออันเดียว เพื่อการสร้างชาติของเราให้มั่นคงถาวรและเจริญ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า เมื่อเวลาที่เราศึกษากันตอนนั้น เราคิดยิ่งไปกว่าท่านสมาชิกฝ่ายค้านที่ว่า จะไม่ยืดบทฉะเพาะกาลนี้เสียอีก เราคิดว่าเราเปลี่ยนการปกครองแล้ว เราต้องการสันติสุข ในการที่เราต้องการสันติสุขนั้น ก็ด้วยความสามัคคีของชนทุกเหล่า คือรัฐบาลเก่า ซึ่งข้าพเจ้าอยากจะเรียกว่า ทางฝ่ายเจ้านายในสมัยนั้น เราเอาใจท่านด้วยเพื่ออยากให้ท่านร่วมการปกครองของเราต่อมาในระบอบรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าพวกเราไม่ได้ทำสิ่งใดล่วงเกินท่านไปกว่ากิจ เพื่อเปลี่ยนการปกครองเลย นอกจากนั้นเรายังคิดอีกว่า ถ้าเราเปลี่ยนแล้ว เรามานั่งยึดอำนาจอยู่อีก ไม่มีปัญหาว่าจะต้องมีภัย เพราะเหตุว่าจะมีผู้หาว่าเราเป็นกบฎ เราเปลี่ยนการปกครองมาแล้ว เมื่อเปลี่ยนเสร็จแล้ว เราจะไม่เอาอะไรเลย เราจะกลับไปอยู่บ้าน แต่ในที่สุด ปัญหาก็ได้ถกกันต่อมาถึงถึงความปลอดภัยของพวกเรา เพราะว่าในโลกนี้ พวกที่เปลี่ยนการปกครองแล้วก็ปล่อยไปในวันในพรุ่งนั้น ไม่มีปัญหาจะต้องมีภัย เพราะฉะนั้นเราก็คิดกันอีกว่า เราควรจะมีสมาชิก 2 ประเภท ประเภทหนึ่งนั้นคือให้พระมหากษัตริย์ท่านทรงเลือกตั้งเพื่อเอาพระทัยท่าน ท่านจะได้ร่วมมือกับเราทำงานต่อไปด้วยสันติสุข ในจำนวนสมาชิกประเภทที่ 2 นี้ คณะราษฎรก็จะได้เข้ารวมอยู่ด้วย เพื่อได้ช่วยกันประกันความสงบสุขของประเทศชาติและความปลอดภัยของพวกคณะราษฎรผมด้วย อีกประเภทหนึ่งนั้น ให้ราษฎรทำการเลือกตั้งเข้ามาเพื่อร่วมทำงานกับสมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง เมื่อได้วางหลักเกณฑ์ดั่งนี้แล้ว เราก็ยังเป็นห่วงในความสันติสุขและปลอดภัยอยู่เหมือนกัน เกรงว่าผู้ไม่นิยมในระบอบการปกครองใหม่นี้จะแฝงให้ราษฎรเลือกตั้งเข้ามา แล้วคิดทำลายเราในภายหลัง เพราะในตอนต้นของการเปลี่ยนการปกครองนั้น ทุกท่านคงจะไม่ปฏิเสธว่า เราทุกคนยังไม่ได้เรียนรู้ในระบอบการปกครองนี้ ราษฎรที่อยู่ห่างไกลจากชุมนุมชนด้วยแล้ว ก็ยิ่งไม่ทราบต้นสายปลายเหตุเลย ด้วยเหตุนี้ เราจึงแทรกระยะเวลาไว้สมัยหนึ่ง ให้สภาผู้แทนมีสมาชิกประเภทเดียว คือ ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ตามความคิดและตกลงของพวกเราดั่งกล่าวมานี้ ก็ได้ดำเนินมาโดยฟันฝ่าอุปสรรคนานาประการจนถึงบัดนี้ และมาถึงกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ว่า สภาควรมีสมาชิกประเภทเดียวอีก แต่ประเภทที่ราษฎรเลือกตั้งเท่านั้น คือหมดบทฉะเพาะกาลเวลา 10 ปี ซึ่งท่านผู้มีเกียรติคงจะเห็นแล้วตามที่ได้ชี้แจงมานี้ว่า เราคิดกันมามาก และคิดไปในทางจะรีบมอบให้ผู้อื่นทำเสมอ ไม่มีเจตนาจะรวบอำนาจเอาไว้ เวลา 10 ปีนี้ ตัวข้าพเจ้าเองก็เคยเสนอเวลาร่างรัฐธรรมนูญให้คุณหลวงประดิษฐมนูธรรม ซึ่งเป็นผู้ไปประชุมร่างว่า ให้เอา 5 ปี เพราะ 10 ปีนานไปจะทนงานไม่ไหว แต่ในที่สุดก็เป็น 10 ปี คงจะตามความเห็นส่วนมากของที่ประชุม และการร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็มี คณะราษฎร พระปกเกล้าฯ และพระยามโนฯ เป็นเจ้าของของเรื่องและคนกลาง ซึ่งทุกท่านคงเห็นชัดว่า รัฐธรรมนูญฉะบับนี้ร่างขึ้นในอิทธิพลของพระมหากษัตริย์และพระยามโนฯ ส่วนพวกเราคณะราษฎรนั้น นาน ๆ พระยามโนฯ ก็เรียกประชุมถามความเห็น หรือแจ้งพระประสงค์ของพระปกเกล้าฯ ให้ฟัง บางคราวในที่ประชุมนั้น ถ้าเราไม่ยอมตามก็ถูกขู่เข็ญอย่างเต็มที่ และเราก็ต้องยอม ในที่สุด รัฐธรรมนูญซึ่งในนั้นมีกำหนดบทฉะเพาะกาล 10 ปี ก็ปรากฏใช้มาจนบัดนี้ และด้วยพวกข้าพเจ้าตลอดจนผู้นิยมในระบอบนี้ และประชาชนต้องฟันฝ่าอุปสรรคไม่หยุดหย่อนทุกปี และยิ่งกว่านั้น เจตน์จำนงของคณะผู้ก่อการ ไม่ใช่จะเอาประโยชน์ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็หาไม่ พวกเราไม่เอา เจ้าคุณพหลฯ ซึ่งเป็นผู้นำในการเปลี่ยนการปกครอง ท่านก็ไม่รับเป็นนายก เพราะอะไร เพราะยังแสดงอีกขั้นหนึ่งว่า เราไม่ต้องการอำนาจ เราต้องการทำเพื่อการปกครองที่ดี ที่เหมาะสม และอย่าลืมอีกอันหนึ่งว่า เพื่อสันติสุขของบ้านเมือง และช่วยกันสร้างชาติให้เจริญ เพราะฉะนั้นในวันที่ 27, 28 รุ่งมา เราก็ได้เชิญเอาคนนอกมา คือเจ้าคุณมโนฯ มาเป็นนายกรัฐมนตรี นี่ไม่ใช่ว่าไปเรียกมาเฉย ๆ ที่จริงด้วยความตั้งในของพวกเรามีเจตน์จำนงว่า อย่าเอาเลย เขาจะว่าเรา ว่ายึดอำนาจเปลี่ยนการปกครองแล้วมาครองเก้าอี้ ในที่สุดก็ยกเจ้าคุณมโนฯ เป็นนายกรัฐมนตรี และขอให้ท่านไปตรวจดูรัฐมนตรีในสมัยนั้น พวกข้างนอกเกือบทั้งนั้น ไม่ใช่พวกก่อการฝ่ายเดียว นี่แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า เราไม่ได้ตั้งใจจะรักษาอำนาจในเรื่องการปกครองนี้ต่อมาเลย แต่เป็นที่น่าเสียใจที่เราได้ให้อาจจะเป็นก่อนเวลาเกินไป ในที่สุดรัฐธรรมนูญก็ได้ถูกเลิกใช้ เมื่อเลิกใช้แล้วก็ได้มาเปิดกันใหม่ แล้วก็เกิดกบฏขึ้น มารบกันเอง ตายไป 17-18 คน จนถึงในที่สุดสภาฯ นี้เองก็ได้ตั้งศาลพิเศษขึ้นชำระตัดสินยิงเป้า 18 คนเป็นครั้งสุดท้าย ในการที่ข้าพเจ้าได้ชี้แจงให้ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายทราบถึงเรื่องความตั้งใจของคณะราษฎรของเรา เป็นมาดังนี้ ได้ทำงานต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็ได้ฟังความคิดความเห็นหลายทาง และในที่สุดก็ได้เห็นญัตติของท่านผู้แทนได้ยื่นขึ้นมาว่าเราควรจะยืดบทฉะเพาะกาล และข้าพเจ้าก็ได้ให้อินเตอร์วิวแก่ทางหนังสือพิมพ์ ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าอยากจะยึดถือคำเดิมว่า เรื่อง 10 ปีหรือไม่ 10 ปีนั้น ไม่ใช่ของสำคัญเลย เท่าที่ข้าพเจ้าได้ทำงานอยู่ในปัจจุบันนี้ ถ้าหากว่าได้ปล่อยไป หมดบทฉะเพาะกาลไปแล้วบ้านเมืองอยู่ในสันติสุข ซึ่งจะเป็นสื่อให้เราทุกคนสร้างชาติของเราให้เจริญแล้ว วันนี้เดี๋ยวนี้ก็ได้ ข้าพเจ้ายินดีออก และออกไปแล้วไม่ใช่ออกไปเกะกะเอาเท้าราน้ำ อาจจะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ทั้งนั้น เพราะเหตุว่าข้าพเจ้าเองได้รับตำแหน่งตั้งแต่ต่ำที่สุดแล้วก็สูงที่สุด ไม่มีอะไรอีกแล้ว เพราะฉะนั้นออกเมื่อไรก็ได้ แต่ทว่าความปลอดภัยของชาติ อยากจะย้ำอีกทีว่า ความสันติสุขและความปลอดภัยของชาตินั้นเป็นสิ่งสำคัญ ถึงแม้ท่านผู้แทนฝ่ายค้านก็ได้บอกเองว่า ความปลอดภัยเป็นอย่างไร คณะราษฎรควรจะรักยิ่งกว่าสิ่งใดทั้งมวล เพราะเหตุว่าบ้านเมืองไม่มีสันติสุข เรามีการรบราฆ่าฟัน แย่งชิงกัน และยิ่งเราเป็นประเทศน้อย ถ้าบ้านเมืองไม่สงบนิดเดียวเท่านั้นเอง ข้าพเจ้าจะยกตัวอย่างให้ฟัง วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 เราได้เข้ามาเปิดสภาฯ ใหม่ เพียงแต่เปิดสภาฯ วันที่ 20 เท่านั้นเงินตกลงไปแล้ว ผมอยู่กับเจ้าคุณพหลฯ ทำงานแก้ปัญหาเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ได้กินไม่ได้นอน ฝุ่นตั้งแต่เท้าตลอดหน้าแข้ง นุ่งกางเกงแพรตลอดวัน ไม่มีเวลาแต่งตัว เราไม่ได้รบกันจนเสียเลือดเนื้ออะไรเลย แต่เงินก็ตกลงไปได้ ผมเป็นห่วงอีกในเรื่องเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะจะหมดบทฉะเพาะกาล และพวกผมต้องออกไปเลย ผมยืนยัน ณ ที่นี้อีกว่า ถ้าหากความปลอดภัยมันแน่นอนเมื่อไร ก็ได้เมื่อนั้น ด้วยความบริสุทธิ์ใจจริง ๆ เพราะพวกเราเองเหนื่อย และไม่ใช่จะมาอ้อนเป็นเด็กในที่นี้ว่าเหนื่อย ยิ่งเวลานี้ผมเป็นลมทุกวัน หนักใจอยู่มาก และยิ่งกว่านั้นยังจะยืนยันคำพูดของผมได้อีก คือวันที่ 27-28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เรายังยื่นให้พระยามโนฯ ได้ เพราะนึกว่าเจ้าคุณมโนฯ และพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นจะได้ช่วยปกปักรักษารัฐธรรมนูญ จะได้ช่วยให้บ้านเมืองสันติสุขตลอดมา ก็เมื่อในปี 2475 ยังให้คนอื่นทำได้ เพราะหวังว่าจะดี เพราะฉะนั้นในปี พ.ศ. 2483 จะทำกันอีกไม่ได้ ถ้าบ้านเมืองจะอยู่ในสันติสุข แง่สันติสุขนี้อันเดียวเท่านั้นที่ผมเป็นห่วง และผมอยากจะเรียนว่า ในการที่จะไม่ยืดบทฉะเพาะกาลไปอีก 10 ปีนั้น คือการปฏิวัติการปกครองในปัจจุบันนี้ อย่าลืมว่าในปี พ.ศ. 2475 นั้น เราได้ปฏิวัติมา ในตอนนั้นเราใช้กำลังทหารและพลเรือนเข้าไปขอพระราชทานรัฐธรรมนูญได้มา ต่อมาเรามีสมาชิกประเภทเดียว คือ ประเภทที่ 2 ทำงานมาจนมาส่งช่วงให้ท่าน มาในสมัยนี้มีสมาชิก 2 ประเภท อันนี้จะเห็นได้ว่า สมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือกตั้งนั้นยังอยู่ และผมไม่ได้ดูถูกสมาชิกประเภทที่ 1 ซึ่งราษฎรเลือกตั้งว่า จะไม่มีความรู้ ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ผมได้เคยพูดจนกะทั่งหนังสือพิมพ์ผมก็พูด ผมเห็นว่า ถ้าใครเห็นคนเป็นคน นั่นแหละคน ใครเห็นคนไม่เป็นคน ผู้นั้นไม่ใช่คน ผมไม่ได้ดูถูกสมาชิกประเภทที่ 1 ที่ราษฎรเลือกตั้ง แต่ว่าเรื่องนั้นมันสลับซับซ้อน คือว่า ถ้าหากว่าเราปล่อยให้หมดไปอย่างนี้ ผมจึ่งว่าเท่ากับเราปฏิวัติ คือหมายความว่าสมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือกตั้งนั้นไม่มีอีก หมายความว่า พวกเราที่ราษฎรเลือกมานั้นจะต้องบริหารราชการแผ่นดินไปฝ่ายเดียว ส่วนพระมหากษัตริย์นั้นไม่ทรงเกี่ยวข้อง แต่ว่าผมพูดไม่ปิดบัง พูดถึงฝ่ายพระมหากษัตริย์ ผมเอาเปรียบเกินไป พูดกันง่าย ๆ ถ้าพระมหากษัตริย์จะเลือกตั้ง ท่านก็เลือกพวกผมอีกนั่นแหละ แต่ว่าคนอื่นซึ่งมีความรู้ที่พอจะช่วยทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองแล้ว ก็คงมีโอกาสทำได้ดั่งปัจจุบันนี้ ในการที่จะเป็นรัฐบาล ผมขอโทษ ไม่ใช่จะดูถูกหรืออะไร ในการที่จะเป็นรัฐบาลนั้น โดยที่เราจะต้องสร้างบารมีมาก่อน ในเมื่อเรามาเป็นผู้แทนราษฎรแล้ว เราต้องสร้างบารมีที่จะเขยิบเป็นนายก หรือรัฐมนตรีอีก ทีนี้ ความรู้สึกของข้าพเจ้าเป็นอย่างนี้ คือ สร้างตัวของตัวเองจากข้างนอก คือ ไม่ใช่แทรกเข้ามาระหว่างของฝ่ายบริหาร อย่างต่างประเทศ ข้าพเจ้าเห็นว่า คนที่เขาเป็นนายธนาคารใหญ่ ๆ บางทีเขาก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พอเป็นรัฐมนตรีคลังเข้าราษฎรก็รู้จักหมดแล้วว่า คนนี้ได้อำนวยการธนาคารมาหลายธนาคารแล้ว เขามีความสามารถ เพราะฉะนั้นราษฎรชอบ อย่างในญี่ปุ่น ผมก็ไม่ค่อยสนใจในเรื่องนี้ ผู้จัดการห้างมิตซุบิชิ เขาสามารถดำเนินการเดินเรือได้รอบโลก ถ้าอย่างนั้นเขาเข้ามาเขาก็เป็นได้ และยิ่งกว่านั้นพลเมืองแม้ในระบอบประชาธิปไตยของเขาเองก็พร้อมมูลอยู่แล้วด้วย นอกจากเรื่องการศึกษา เขายังมีเรื่องอื่น ๆ สนับสนุน เพราะฉะนั้นพวกที่จะเป็นรัฐบาลนั้น เขาสร้างบารมีของเขาอยู่ข้างนอก คนรู้จักไม่ใช่แต่ในเมือง ในต่างประเทศเขาก็ยังรู้จักมาก สมมติว่า ผู้จัดการห้างมิตซุยเป็นรัฐมนตรีคมนาคมแล้ว ทั่วโลกรู้จักแล้ว แต่ว่าอย่างเรารวมทั้งผมด้วย เรายังไม่ถึงขีดที่จะสร้างบารมีไว้อย่างนั้น พูดกันอย่างเห็นอกเห็นใจ ราษฎรของเรายังจนอยู่ เราไม่มีลู่ทางจะสร้างอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพยายามกันต่อไป ถ้าบ้านเมืองของเราเจริญ เราก็อาจจะเป็นอย่างนั้นได้ ทีนี้ผมอยากจะเรียนว่า ในการที่พวกผมเป็น สร้างบารมีอะไรมา ความจริงผมไม่มีอะไรมา เป็นคนธรรมดา แต่มีจิตต์ฟุ้งสร้างขึ้นมาก็เลยไปเปลี่ยนการปกครองขึ้น พวกผมยอมเสียสละเลือดเนื้อ เพื่อให้มีท่านเข้ามานั่งอยู่ในที่นี้ เพื่อการปกครองระบอบปัจจุบันนี้ ผมเสียสละชีวิตกัน นับว่าผมได้สร้างบารมีนี้ไว้ เพราะฉะนั้นก็เลยอยู่มาได้อย่างนี้ และทุกท่านก็คงให้อภัย เพราะฉะนั้นเมื่อจะเข้าเป็นรัฐบาล ผมขอพูดถึงในแง่การของทั่ว ๆ ไปว่า ความนับหน้าถือตาต้องมีพอมาก่อนแล้ว จึงจะสามารถครองตำแหน่งได้ จะนึกแต่เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้นไม่พอแน่นอน ไม่ใช่จะดูถูกท่าน ผมต้องขอย้ำไว้เสมอ โปรดเข้าใจให้ดีด้วย นอกจากนั้น ที่ผมเป็นห่วงก็คือว่า ถ้าหากว่าการเข้ามาเป็นสมาชิกหรือมาเป็นรัฐบาล ไม่ใช่ว่าจะยอ ถ้ายังคงสภาพดีอย่างท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้ คือ มีน้ำใจรักระบอบประชาธิปไตยอย่างนี้ ผมก็ยินดีมาก แต่ผมใคร่ขอเรียนอย่างตรงไปตรงมา ผมเป็นห่วงผู้จะมาเป็นสมาชิกในวันพ้นบทฉะเพาะกาลแล้วมาก คือ ผมได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่เสมอ ๆ เท่าที่เจ้าหน้าที่สอบสวนได้ ก็ว่าความปลอดภัยจากระบอบเก่ายังไม่สิ้นเชื้อ บัดนี้ ที่ระบอบเก่าจะไม่มีนั้นเป็นไปไม่ได้ ถ้าหากเราปล่อยไปแล้ว เป็นของแน่ ต้องกลับมาอีก นี่ไม่ใช่เขียนเสือให้วัวกลัว แต่ก็เป็นเรื่องจริงที่ผมทราบและเป็นห่วงอยู่ ถ้าไม่มีเรื่องนั้นแล้ว วันนี้หรือพรุ่งนี้ ผมไปอยู่บ้านผม ผมก็เอา หรือถ้าจะให้ผมไปรับตำแหน่งเดิมของผมคือ หัวหน้าแผนกทหารปืนใหญ่ ซึ่งผมชอบมากที่สุด ผมชอบเขียนตำหรับตำราของทหารปืนใหญ่ เพราะเคยเล่นมาแล้ว สนุกดี แต่ว่าเรื่องความปลอดภัยนี้ ผมอยากจะกล่าวต่อไปว่า เท่าที่ตำรวจสอบสวนคือ เรื่องระบอบเก่ากับระบอบใหม่นี้จะต้องรบกันไปอีกนาน จนกว่าระบอบใดจะชนะ และผมขอยืนยันว่า ในชั่วชีวิตเรา บางทีลูกเราด้วย จะต้องรบกันไปอีก และแย่งกันในระบอบเก่ากับระบอบใหม่นี้ เพราะเหตุเราจะต้องประสานกัน เราต้องการความสงบสุข เราต้องการสร้างชาติ เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น เราจึงไม่ได้ทำอะไรเลยกับพวกที่เห็นตรงกันข้าม ใครจะไปไหนก็ได้ ทำอะไรก็ได้ เมื่อเปรียบกับในต่างประเทศ ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า เราทำมาผิดกันไกล เช่น ฝรั่งเศสปฏิวัติกัน เขาก็ฆ่ากันนับพัน ๆ คน จนถึงกับเอาใส่รถใส่เกวียนไปฆ่ากัน ส่วนเราเปลี่ยนกัน เปลี่ยนทั้งพระมหากษัตริย์ เปลี่ยนทั้งอำนาจอะไรต่ออะไรด้วย เราก็ไม่ได้ทำอะไรกันเลย มิได้มีการเสียเลือดเนื้อกันเลย และผมว่า ในชีวิตเรา ในชีวิตลูกของเรา พวกรักระบอบเก่าแก้แค้นก็ไม่หมด เพราะว่าเราปล่อยไว้ อย่าว่าแต่การเปลี่ยนระบอบการปกครองและเปลี่ยนพระมหากษัตริย์เลย ขอให้มองดูใกล้ ๆ การเปลี่ยนแต่พระมหากษัตริย์ ตัวอย่าง สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เปลี่ยนจากพระเจ้าตากมาแล้ว ฝ่ายพระเจ้าตากเป็นอย่างไร ฝ่ายพระเจ้าตากต้องถูกประหารชีวิตหมด ถึงกระนั้นก็ดี ตอนหลังก็ยังปรากฏว่าจะมีการแย่งกันอีกเล็กน้อย นี่ตัวอย่างที่เราเป็นมาแล้ว แต่พวกเราเห็นว่าคนไทยด้วยกัน เราควรจะสามัคคีกัน สมัครสมานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันสร้างชาติ แล้วเราจะได้รับความสันติสุขด้วยประการทั้งปวง มีโรงอุตสาหกรรม มีโรงพยาบาล มีถนนหนทาง อะไรอีกร้อยแปดประการ อย่างที่เราทำกันเวลานี้ มีเรือเดินทะเล มีอะไร ๆ อีกตามที่เราเห็นอยู่นี้ก็ดีอยู่แล้ว เรียกว่าได้งานของชาติดี แต่เราไม่ได้ทำอันตรายใครเกินเหตุ จึงทำให้พะวักพะวนอยู่ แต่ห่วงพวกรักระบอบเก่า เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดให้คำมั่นได้ว่า ระบอบเก่ากับระบอบใหม่นั้นจะเป็นอันสิ้นสุดกันแล้ว ไม่มีอะไรกันแล้ว ผมขอย้ำอีกว่า หมดบทฉะเพาะกาลเมื่อไรก็ได้ ทีนี้ถ้าถามความเห็นของผมว่าเป็นอย่างไร ผมก็บอกว่า มันยังไม่หมดกันได้ พวกผมขอให้หมด ปิดฉากพยาบาทกัน แต่พวกตรงข้ามเขาไม่ยอม ก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร เขาแสดงทีท่าว่า ต่อให้ถึงลูกหลานเหลนของเราก็ต้องรบกันอยู่นั่นเอง ก็มีปัญหาขึ้นว่า ถ้าเช่นนั้นทำไมจึงไม่แก้เล่า ถ้ามีการแก้ ก็ต้องทำเด็ดขาดอย่างพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงปฏิบัติกับพวกเจ้าตาก ซึ่งได้ผลดีมาแล้ว แต่เราทำไม่ได้ จะไปล่มเรือฆ่ากันอย่างนั้นพ้นสมัย และกลัวบาปด้วย แต่ฆ่า 18 คนเท่านี้ก็พออยู่แล้ว เป็นประวัติการณ์ที่เรายังไม่ลืมเหตุการณ์อันนี้ ถ้าเราจะให้หมดไปจริง ๆ ที่จะให้ระบอบใหม่นี้มั่นคงแล้วจะเป็นอย่างไร ดูอย่างฝรั่งเศสเมื่อครั้งพระเจ้าหลุยที่ 16 นั้น เอาไปประหารกันทีเดียว อีกอย่างหนึ่ง เราจะปราบด้วยวิธีอื่นก็ได้ พวกที่อยู่ในระบอบเก่าไม่เปลี่ยนหัวมาเป็นระบอบใหม่ ก็ให้หนีไปเสียจากเมืองไทย สภาฯ นี้ก็อนุมัติให้รัฐบาลทำได้ ให้ออกกฎหมายว่าพวกนี้ให้ผมริบทรัพย์ แล้วเนรเทศไปให้หมด ขอโทษ อย่างรัสเซียเขาทำ รัสเซียขาวรัสเซียแดง เป็นต้น แต่ว่าเราไม่ได้ไปเป็นคอมมูนิสม์กับเขาด้วย นี่แหละผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เมื่อพวกผมได้ฝังรกฝังรากมาอย่างนี้ รู้จักรู้จี่คนในทางทหารในทางตำรวจในทางราชการ ก็ได้ร่วมกิจการกันมา แม้ข้าราชการเหล่านั้น ก็ได้ไปช่วยกันปราบกบฏ ได้ติดเหรียญปราบกบฏกันมา ช่วยกันคนละนิดละหน่อย ถ้าหากระบอบเก่ากลับมาแล้ว ก็คงจะได้รับโทษกันไปด้วยคนละนิดละหน่อย ยิ่งพวกที่ได้เข็มกล้าหาญด้วยแล้ว ถ้าท่านบวรเดชกลับเข้ามาก็ยิ่งลำบากหน่อย พวกเหล่านี้ผมก็ต้องคิดเห็นอกเขาเหมือนกัน ว่าควรจะทำอย่างไร ถ้าหากว่าควรจะให้พวกผมช่วยงาน ก็ต้องอยู่ ถ้าว่าจะให้ออกไปก็ได้ พวกผมก็หมดหน้าที่ เพราะเป็นคนนอกราชการ แต่ก็ต้องปฏิวัติกันเป็นแน่ จะเป็นพวกไหนไม่ทราบ ดั่งนี้ก็แล้วแต่ที่ประชุมนี้จะวินิจฉัย มันติดอยู่นิดเดียว เรื่องความปลอดภัย ที่ผมว่า ว่าจะต้องต่อสู้กันระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่ เมื่อเวลานี้มันไม่มีอะไรก็ต้องเงียบไป ถ้ามีอะไรก็โผล่ขึ้นมาอีก พวกเรากันเอง เราจะไปทำอย่างอื่น จะไปฆ่าหรือจะไปเนรเทศไปก็ทำไม่ได้ เพราะเหตุว่า เราสงสารกัน เห็นอกเห็นใจกัน ถ้ายิ่งไปพยาบาทคาดพยาเวรกันก็ต้องฆ่ากัน ในที่สุดผมเห็นว่า ถ้าเราไม่ยืดบทฉะเพาะกาลก็เท่ากับปฏิวัติ หมายความว่า เท่ากับจะแก้ไขอย่างที่ได้ทำเมื่อวันที่ 24 เมื่อวันที่ 24 ได้เปลี่ยนจากพระมหากษัตริย์มาอยู่ในคณะราษฎรกับสมาชิกประเภทที่ 2 คราวนี้เมื่อพ้นบทฉะเพาะกาลก็หมายความว่า เปลี่ยนจากพระมหากษัตริย์ไม่มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 และทั้งเปลี่ยนจากความรับผิดชอบของคณะราษฎรไปอยู่ในมือของราษฎร 14 ล้านคน ซึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยลำพัง และในจำนวน 14 ล้านนั้น อย่าลืมว่า ผมเองก็เป็นราษฎรคนหนึ่ง ผมก็คือราษฎรเหมือนกัน ความจริง พวกผมนั้นที่จริงไม่ใช่คนอื่นคนไกล คือราษฎรธรรมดานั่นเอง ไม่ใช่เป็นรัฐบาลผิดไปจากคนธรรมดาอะไร แต่เดี๋ยวนี้ทำไมชื่อเสียงมันเสีย คำว่า รัฐบาล ราษฎรก็เกลียดนัก ยิ่งถ้าใครมาเข้ากับรัฐบาล ราษฎรก็เกลียด ฉะนั้นหากจะมีบางท่านคิดว่า ถ้ามาเข้ากับรัฐบาลแล้ว จะทำให้ราษฎรเกลียด นี่แหละเราจะต้องช่วยกันแก้ การแก้นี้เราแก้ไปในทางที่ดี คือที่ตรงกับหลักเกณฑ์ ทำไมราษฎรจึงเกลียดรัฐบาล ถ้ารัฐบาลดี ราษฎรก็คงไม่เกลียด ถ้าข้าราชการที่เป็นพ่อเป็นแม่ปฏิบัติตนอย่างนั้น ราษฎรก็ไม่เกลียด เราจะเห็นถมไป อย่างพระยารัษฎาฯ ในปักษ์ใต้ ท่านดุจะตายไป ท่านตีเฆี่ยนราษฎร แต่ในที่สุดราษฎรรักอยากจะทำอนุสาวรีย์ขึ้นด้วย แต่ที่ชื่อเสียงรัฐบาลกับข้าราชการเสียนี้ ถ้าผมพูดไปแล้ว ก็จะทับถมทางระบอบเก่า แต่ก็ต้องพูดเพื่อก่อและแก้ คือ เมื่อสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น รัฐบาลไม่ได้เหลียวแลราษฎร มิได้คิดถึงอกราษฎร มิได้คิดว่า การบำรุงอาชีพราษฎรเป็นหลักเป็นหัวใจแห่งการบริหารราชการแผ่นดินอย่างที่รัฐบาลระบอบใหม่นี้ปฏิบัติ ข้าราชการสมัยนั้นจำนวนไม่น้อยไปรีดราษฎรมากไป ผมเองก็อยู่ในสมัยนั้น แต่ไม่เคยไปรีดกับเขาด้วย คือ ข้าราชการไปหาราษฎร ไปขู่เข็ญอะไรต่าง ๆ ร้อยแปดประการ ราษฎรก็กลัว ไปรีดเอาข้าวบ้าง เอาไก่บ้าง เอาแตงโมบ้าง เอาลูกสาวเขาบ้าง ราษฎรมาติดต่อทำอะไร ก็เอาสินน้ำใจบ้างและจนหลงติดมาจนเวลานี้ก็มี ดั่งนี้เป็นต้น เวลาไปตรวจราชการ ก็ไปกินของราษฎรเปล่า ๆ แล้วยังไม่พอยังเอาข้าวสารเอาอะไรมาอีก เพราะฉะนั้น ผมนึกว่าจะต้องช่วยกันแก้ โดยเว้นจากการทำให้เสื่อมดั่งที่กล่าวมานี้ จนราษฎรเห็นว่า ผู้ที่จะเป็นรัฐบาลนั้น คือผู้ที่จะช่วยความสุขให้แก่ราษฎรดั่งที่ปฏิบัติเวลานี้ แต่ทางรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น เราเท่ากับผู้หลักผู้ใหญ่ เราเป็นผู้นำเขา เราจะต้องช่วยในสิ่งที่ถูกต้องตามหลักศีลธรรม ที่เราจะช่วยอย่างช่วยลูก ถ้าใครยิ่งพยายามทับถมรัฐบาลให้เสีย ก็เท่ากับตัดหนทางตัวของผู้นั้นเองที่จะมาเป็นรัฐบาลไม่ได้ เพราะราษฎรก็ยึดมั่นว่า รัฐบาลเลว รัฐบาลเป็นศัตรู แล้วใครจะอยากมาเป็นรัฐบาล และใครจะชอบรัฐบาล ในที่สุดผมก็เรียนต่อที่ประชุมมายืดยาว ในหลักสำคัญแล้วแต่ที่ประชุมจะวินิจฉัยเอา ถ้าหากว่า ในความปลอดภัยของเราไปได้ ผมก็ไม่ขัดข้อง แต่ถ้าไปไม่ได้แล้ว ก็โปรดไตร่ตรองว่า เราควรจะทำอย่างไร|ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2483 เรื่องร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาล พุทธศักราช 2483
  • การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงแต่ระบอบแล้วย่อมเป็นการเพียงพอ ยังต้องคอยควบคุมดูแลมิให้ถอยหลังกลับเข้าสู่ที่เดิมอีก ผู้เปลี่ยนการปกครองและประชาชนส่วนมากได้คอยควบคุมดูแลระบอบการปกครองใหม่ไว้อย่างดีแล้วก็ตาม ก็ยังไม่วายมีบุคคุลหรือคณะบุคคลคอยพลิกแพลงให้กลับเข้าสู่ระบอบเดิม|คำปราศรัยทางวิทยุในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2484 ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้แถลงถึงความจำเป็นในการปราบปรามขบวนการต่อต้านการปฏิวัติ
  • ฉันขอแจ้งให้พี่น้องชาวไทยที่รักทราบว่า ตามที่มีผู้พูดว่า ฉันจะยกกองทัพเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อแย่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพันตรีควง อภัยวงศ์ นั้น ฉันขอแจ้งว่าไม่มีมูลความจริงเลย เพราะฉันได้ลาออกมาแล้วตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ เหตุใดเล่าฉันจะเข้าไปแย่งตำแหน่งจากพันตรีควง อภัยวงศ์ ซึ่งเท่ากับเป็นน้องชายที่รักของฉัน เมื่อพันตรีควง อภัยวงศ์ ได้มาพบฉัน ก็ได้สนทนาอย่างญาติและมิตรที่สนิท ฉันตั้งจิตอธิษฐานขอให้รัฐบาลใหม่นี้ได้บริหารราชการให้สำเร็จสมปรารถนาต่อไป[1]
  • ผมไม่เคยร่ำเรียนมาทางด้านเศรษฐกิจดอก แต่ผมก็มีหลักการที่ได้มาจากการร่ำเรียนทางวิชาทหาร รักชาติ รักประชาชนนั้น ประการหนึ่ง ซื่อสัตย์ต่อบ้านเมืองเป็นอีกประการหนึ่งผสมกับประสบการณ์และเสียงของประชาชน คุณสังเกตประชาธิปไตยในช่วงสุดท้ายของผมหรือเปล่า? เสรีภาพในการพูด อย่างเช่นที่พวกนักไฮปาร์คเขาทำกันที่สนามหลวง หรือข้างทำเนียบ เคยมีปรากฏมาก่อนบ้างไหม? เรื่องความรักชาติเล่า? คนไทยซึ่งเป็นเจ้าของแผ่นดินได้ถูกขับไล่ให้หนีไปอยู่ในป่าแล้วมีอะไรที่บ่งบอกเป็นสัญลักษณ์ของไทยที่มีอยู่ในตัวเมืองบ้าง? ผมเสียดายเขาพระวิหารเป็นที่สุดเมื่อผมบริหารอยู่ก็ไม่เคยมีปัญหาที่ว่านี้ เราเดินการทูตอย่างไร เราจึงสูญเสียของสำคัญของชาติไปผมกับเจ้านโรดมสีหนุนั้น ก็มีไมตรีกันดีอยู่วันเกิดของท่าน ผมก็ได้รับโทรเลขอวยพรเป็นการส่วนตัวไปทุกปี ท่านตอบมาอย่างไร คุณก็ได้เห็นอยู่แล้ว แค่เขาพระวิหาร แค่กระผีกของนครวัดที่ไหนเจ้านโรดมจะไม่เห็นแก่มิตรภาพการเป็นศัตรูจีนนั้นเล่า คุณก็ย่อมรู้ดีว่ามันเป็นการฝืนธรรมชาติ ฝืนประวัติศาสตร์ ฝืนข้อเท็จจริงมันย่อมมีโทษมากกว่าคุณแค่เราเคาะประตู อันเป็นการยื่นมือออกไปสัมผัสเพียงห่าง ๆ จีนก็ได้ให้ความช่วยเหลือเราแค่ไหนในฐานะผู้บริหารประเทศ เราจะหันหลังให้แก่ประโยชน์ของประชาชนได้อย่างไร ผมถูกสฤษดิ์เขาทำรัฐประหารเพราะเหตุอะไร ผู้สันทัดกรณีก็ย่อมรู้การเมืองมันลึกลับซับซ้อนแค่ไหน? การที่คณะราษฎรทำการปฏิวัติ นำประชาธิปไตยมาสู่ประชาชนนั้น แม้จะเป็นความสำเร็จก็ตาม แต่เราต้องยอมรับว่า คณะเราส่วนใหญ่ยังมีฐานะเป็นไก่อ่อนสอนหัดอยู่เราจึงถูกมรสุมซัดเอาถึงขั้นแพแตก คณะราษฎรจึงถูกแบ่งแยกออกเป็นฝักเป็นฝ่ายผู้ที่พอจะถือได้ว่าเจนจัดหน่อยก็มีท่านอาจารย์ นี้แหละเพราะแนวที่ท่านร่ำเรียนศึกษาได้ปูลาดไว้ ผมเองก็เรียนมาทางทหารสมาชิกส่วนอื่นก็มาจากเงื่อนไขทางสังคมที่แตกต่างกันเราร่วมงานกันได้ก็เพราะความรักระหว่างเพื่อนฝูงโดยแท้มันอาจเป็นทฤษฎีแปลกใหม่ไม่ซ้ำแบบใครแต่คณะเราก็ได้ปฏิวัติจนเป็นผลสำเร็จ ผมจะต้องกลับกรุงเทพฯ เร็ว ๆ นี้แหละผมจะไปสานต่อประชาธิปไตย และงานที่ทำค้างอยู่ไม่ว่าจะมีอุปสรรคแค่ไหนผมจะให้คุณดูด้วยตาว่า ถ้าผมกลับกรุงเทพฯ เขาจะกล้าจับผมไปขังไหม? หรือว่า จะตั้งแถวรับ ยาวเหยียด?
  • ข้าพเจ้าจำต้องกล่าวซ้ำอีกว่าเกือบทุกคนต้องการให้เปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบเช่นปรัตยุบันนี้ ข้าพเจ้าจะขอนำเหตุผลต่างๆ มากล่าวเป็นทางสนับสนุนความเห็นนี้ตามสมควรแก่กาลและโอกาสเพื่อให้พี่น้องชาวไทยได้ซาบซึ้งในรากฐานสำคัญและทำความเข้าใจกันดีขึ้น....อาศัยความอันมีเจตนาอันบริสุทธิของรัฐบาลในระบอบนี้ ์ ข้าพเจ้าจึ่งใคร่ชักชวนพี่น้องทั้งหลายอย่างจริงใจว่า ขอให้ช่วยกันคนละไม้คนละมือ คนละเล็กคนละน้อยร่วมแรงร่วมใจกันสร้างชาติไทยของเราให้เจริญก้าวหน้ากันอย่างเห็นจริงสักครั้งหนึ่ง
    • (วันฉลองรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค.2482)

อ้างอิง

แก้ไข
  1. 61 ปี ประชาธิปัตย์ยังอยู่ยั้งยืนยง โดย จรี เปรมศรีรัตน์ ISBN 9789747046724
  2. อำนาจ 2 ต่อสู้กู้ชาติ เอกราษฎร์ อธิปไตย โดย รุ่งมณี เมฆโสภณ หน้า 123-125 ISBN 978-616-536-079-1

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้ไข
วิกิพีเดีย มีบทความเกี่ยวกับ