นายกฯ (มือใหม่) หัวใจประชาชน
นายกฯ (มือใหม่) หัวใจประชาชน (ญี่ปุ่น: チェンジ อังกฤษ: Change) เป็นละครโทรทัศน์ของสถานีโทรทัศน์ฟูจิ โดยออกอากาศที่ญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 14 กรกฎาคม ปีเดียวกัน และออกอากาศในประเทศไทย ทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ทุกวันพุธ และวันพฤหัสบดี เวลา 20.20 - 21.10 น. โดยเริ่มตอนแรก ในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2552 ออกอากาศตอนจบในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 และ พ.ศ. 2554 ทาง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้นำซีรีส์นี้นำกลับมาออกอากาศซ้ำอีกครั้ง โดยออกอากาศทุกวันจันทร์ - พุธ เวลา 20.20 - 21.10 น. โดยเริ่มตอนแรก ในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554
ข้อคิดดีๆ
แก้ไข- สวัสดีครับพ่อแม่พี่น้อง ผมอาซากุระ เคตะ...ผมขอประทานโทษพ่อแม่พี่น้องทุกคนที่ต้องมาพูดปราศรัยในที่สูงกว่าพวกท่าน ถ้าเลือกได้ผมก็จะขอยืนอยู่เท่า ๆ กับท่านนะครับ พ่อแม่พี่น้องครับ ผมเคยคิดเสมอว่า ส.ส นั้นถูกเลือกขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนประชาชน และนายกรัฐมนตรีก็คือคนที่ถูกเลือกมาจาก ส.ส เพื่อให้เป็นคนที่มีอำนาจมากที่สุดเหนือคนทั้งมวล แต่ถึงตอนนี้ผมไม่ได้คิดแบบนั้นแล้ว ผมคิดว่าการเป็นส.ส นั้นไม่ควรจะเป็นแค่คนที่ให้สัญญาว่าจะทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่เขาต้องทำจริง ๆ และนั่นทำให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควรจะต้องเป็นคนที่ทำงานให้หนักที่สุดเพื่อประชาชนในระหว่างที่รับภาระอันยิ่งใหญ่นี้อยู่บนบ่า ผมคิดว่านักการเมืองไม่ควรจะเป็นเพียงคนที่ก้มหัวขอคะแนนเสียงระหว่างการเลือกตั้ง จากนั้นก็กลายเป็นคนชั้นสูงที่อยู่เหนือคนทั่วไปขึ้นมาหลังจากได้รับเลือกตั้งแล้ว ผมคิดว่าแบบนี้ไม่ใช่นักการเมืองที่แท้จริงหรอกครับ…เช่นเดียวกันคนที่ไม่สามารถสื่อสารให้ประชาชนทุกคนเข้าใจก็ไม่ใช่นักการเมืองที่แท้จริง คนที่เห็นประโยชน์ของตัวเองมาก่อน ผลประโยชน์และความสุขของประชาชน ก็ไม่ใช่นักการเมืองที่แท้จริง…ที่แน่นอนที่สุด...คนที่ไม่รู้ว่าประชาชนเกลียดอะไร หรือประชาชนต้องการอะไร หรือสิ่งที่ประชาชนเชื่อมั่น คนที่ไม่เข้าใจและไม่รู้สิ่งเหล่านี้เลยนั้น ยิ่งไม่สมควรจะเป็นนายกรัฐมนตรีครับ!! บอกตามตรงว่า คือถ้าการเป็นนักการเมืองอาชีพ หมายความว่าคุณต้องอยู่ภายใต้กรอบและกฎที่ว่านี้ ผมก็ไม่อยากจะเป็นนักการเมืองอาชีพหรอกครับ แต่คนเหล่านี้และรูปแบบของการทำงานที่ว่ากลับมีอยู่อย่างมากมายในโลกการเมืองที่ผมได้สัมผัสมา ต่อหน้าพ่อแม่พี่น้องในวันนี้ ผมขอสัญญาต่อหน้าท่านว่า ถ้าผมเป็นนายกฯ ด้วยตาคู่นี้เหมือนของท่าน จะถูกใช้เพื่อมองหาปัญหาและแก้ไขให้มันถูกต้อง ด้วยหูที่เหมือนของท่าน ผมสัญญาว่า ผมจะตั้งใจฟังเสียงที่เบาที่สุดของผู้ที่เราเรียกเขาว่าเป็นผู้อ่อนแอ ด้วยขาสองข้างที่เหมือนท่าน ผมสัญญาว่า ผมจะวิ่งเข้าหาปัญหาต่าง ๆ โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ด้วยสองมือที่เหมือนพวกท่าน ผมสัญญาว่าจะใช้มันทำงานให้หนักจนด้านแข็งจนเหงื่อหยดจากมือ เพื่อจะสร้างหนทางใหม่ที่ประเทศนี้ควรจะเป็น ทุก ๆ อย่างของผม...ทุกอย่างของผมก็จะเป็นเหมือนของท่าน
- “ผมเคยเป็นครูประถม 5 ซึ่งสอนเด็ก ๆ เสมอ เวลาพวกเขาทะเลาะกัน ผมบอกให้เขาฟังคนอื่นบ้าง เพราะเหตุผลของตัวเองใช่ว่าจะถูกต้องทั้งหมด แต่ในโลกของการเมืองมันไม่ใช่เช่นนั้นเลย ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายทะเลาะกัน โต้เถียงกันโดยเอาแต่เหตุผลของตัวเองเป็นที่ตั้ง บางครั้งทะเลาะกันก็มีข้อสรุป แต่บางครั้งก็ไม่มี บางครั้งก็ต้องลงคะแนนกัน แต่การตัดสินใจในการลงคะแนนก็ไม่ได้คำนึงถึงผลของการตัดสินใจนั้นเลยว่า จะมีผลกระทบต่อประชาชนแค่ไหน การลงคะแนนของนักการเมืองนั้นขึ้นอยู่กับพรรคและผู้มีอำนาจในพรรคเป็นหลัก นั่นทำให้ผมรู้สึกว่ายิ่งห่างไกลจากเมืองมากขึ้น”
- “แต่เมื่อผมถูกทาบทามให้เป็นนายกฯ ผมยอมรับเพราะผมคิดว่าผมจะทำอะไรให้ประชาชนได้บ้าง มีคนบอกว่า ผมควรจะรับเพราะผมจะสามารถสร้างความหวังให้แก่เด็กๆได้ ตั้งแต่วันที่ผมให้สัญญากับประชาชนครั้งนั้นว่า จะใช้มือ ใช้ตา ใช้หูและใช้ขา ทำงานอย่างเต็มที่ ผมรักษาสัญญานั้นไว้ตลอด ผมรู้สึกว่า ผมเริ่มใกล้ชิดการเมืองเข้าไป”
- “เพราะด้วยตำแหน่งที่ผมมี ผมสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ผมสามารถเปลี่ยนประเทศนี้ให้เป็นอย่างที่ผมอยากให้เป็นได้ แต่กระนั้นอาจจะเป็นเพราะผมไม่มีประสบการณ์พอ ผมถึงไม่สามารถทำอะไรได้เลยอย่างที่ผมต้องการ และอย่างที่ประชาชนคาดหวัง และยังทำให้คนที่สนับสนุนผมต้องผิดหวังด้วยการคัดคนที่มีเรื่องรับสินบนมารับตำแหน่งรัฐมนตรีอีก”
- “แต่ผมเรียนรู้หลายอย่างจาก 50 วันที่เป็นนายกฯ ผมได้เรียนรู้ว่า มีนักการเมืองที่เล่นการเมืองเพราะความโลภ มีนักการเมืองที่เล่นการเมืองด้วยความรับผิดชอบ มีนักการเมืองที่รู้ว่า ตัวเองทำผิดและยอมรับมัน รู้ว่ามีข้าราชการที่ทำทุกอย่างเพื่อชาติ รู้ว่ามีตำรวจที่พร้อมจะตายแทนประชาชน รู้ว่านักการเมืองต้องเข้าถึงประชาชนให้ได้ เรื่องทั้งหมดนี้ทำให้ผมตัดสินใจที่จะลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องทั้งหมด”
- “แต่ขณะเดียวกัน ผมก็ต้องการให้นักการเมือง รัฐมนตรีและส.ส.ทั้งหมดร่วมรับผิดชอบด้วย ผมจึงขอประกาศยุบสภาในตอนนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกตัวแทนของเขาอีกครั้ง”
- “คะแนนเสียงของทุกคนครั้งนี้สำคัญมาก จงลงคะแนนเลือกคนที่เขาเข้ามาทำงานตามเจตนารมณ์ จงเลือกคนที่รักษาสัญญา เลือกคนที่เมื่อเข้ามาแล้วไม่ลืมว่าเขาเป็นตัวแทนของประชาชน เชื่อเถอะครับว่าเรายังมีความหวังอยู่ เราเปลี่ยนแปลงการเมืองได้ด้วยตัวของเรา เพราะประชาชนเป็นผู้กำหนดว่าใครจะมาเป็นนักการเมือง ผมขอบอกว่าใครที่คิดว่าการเมืองเป็นเรื่องเข้าใจยากนั้นไม่จริงนะครับ(หยิบหนังสือ) นี่คือคู่มือการเมืองสำหรับเด็กประถมที่เราเคยเรียนกันมา เพราะฉะนั้น การยุบสภาครั้งนี้จึงเป็นการสร้างความหวังและเติมเต็มฝันให้แก่ประชาชนและเด็ก ๆ”
- หลายต่อหลายคนรู้สึกเฉย ๆ กับคำว่า “ประชาชน” ทั้ง ๆ ที่ต่างก็เป็นอยู่โดยสภาพ คือเป็นประชาชนนี่แหละ แต่มักไม่ได้พูดถึงคำ ๆ นี้บ่อยนัก เช่นเดียวกัน ในท่ามกลางความเป็นประชากรของประเทศ คนอีกกลุ่มหนึ่งจำนวนหลักร้อยกลับพูดถึงคำ ๆ นี้ซ้ำไปซ้ำมา ขึ้นอยู่กับว่า ประโยคที่ตนจะแต่งให้สวยหรูนั้น จะผลักให้ประชาชนเป็นประธาน โดยเชิดในฐานะตัวแทนว่า “...นี่เป็นความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้” หรือ ผลักภาระให้ประชาชนเป็นกรรม แล้วผุดลุกขึ้นมาตอบคำถามของคนส่วนใหญ่ “นี่ไง...ที่กำลังต่อสู้ กำลังเรียกร้อง ก็เพื่อพี่น้องประชาชน”
- ความเกลื่อนกลาดของคำว่า “ประชาชน” ที่ถูกพูดกันอยู่ทุกวันนี้ ผมเองเชื่อเหลือเกิน ถ้านับรวมกันจริง ๆ คงได้มากกว่าจำนวนประชากรของเราทั้งประเทศ และในจำนวนที่มากมายมหาศาลนี้ ก็ไม่แน่ใจอีกเหมือนกันว่า แต่ละคำที่แต่ละคนพูดออกมานั้น อาศัยพูดโดยถือเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งอย่างแท้จริง หรือหวังแค่เพียงประโยชน์เฉพาะหน้า ที่ตัวเองจะได้รับจากส่วนหนึ่งของผลประโยชน์ที่ควรตกได้แก่ประชาชนตาดำ ๆ
- หากได้ลองหันหน้าไปรอบ ๆ ตัว ก็คงพอจะรู้ได้ว่า ที่สุดของประชาชนในระดับเดียวกับเรานั้น ก็คือ “เหล่าพลเมืองคนกล้า” ทั้งคนดีที่มีความกล้าและคนกล้าที่จะเป็นคนดี ความเป็นพลเมืองนั้นถือเป็นการยกระดับจากประชาชนธรรมดาทั่วไปมาเป็นประชาชนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ