พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)
พระสงฆ์ชาวไทย
พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) (17 มิถุนายน พ.ศ. 2461 – 16 มกราคม พ.ศ. 2535) หรือ หลวงพ่อชา หรือ หลวงปู่ชา หรือ อาจารย์ชา เป็นพระภิกษุสงฆ์ชาวอุบลราชธานี พระธุดงค์กรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เป็นผู้ก่อตั้งวัดหนองป่าพง หลวงปู่ชามีชื่อทั้งทางด้านวิปัสนากรรมฐาน การเผยแผ่พระพุทธศาสนาสายพระป่าสู่หลายประเทศ และมีชื่อเรื่องพระธรรมคำสอนที่เข้าใจง่ายแต่ลึกซึ้ง โดยคำสอนของหลวงปู่ชานั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ การอธิบายด้วยการอุปมาอุปมัยเปรียบเทียบสิ่งใกล้ตัวผู้ฟัง ทำให้ผู้ฟังเข้าใจพระธรรมคำสอนได้ไม่ยาก อันเนื่องด้วยความลึกซึ้งและเข้าใจง่ายในคำสอนของท่าน
คำสอน
แก้ไขเกิดนั่นล่ะคือตาย ตายนั่นล่ะก็คือเกิด ต้นก็คือปลาย ปลายก็คือต้น เราไม่รู้จัก ถึงเวลาจวนจะตาย หรือตายแล้วก็ร้องไห้กัน นี่คือคนโง่ ถ้าจะร้องไห้อย่างนั้นมาแต่ต้นก็ยังจะดีนะ เมื่อเกิดมาก็ร้องไห้กันเสียทีเถอะ ดูให้ดีซิถ้าไม่เกิดมันก็ไม่ตายเข้าใจไหม[1] | ||
โยมรู้จักน้ำที่มันไหลไหม เคยเห็นไหม น้ำนิ่งโยมเคยเห็นไหม ถ้าใจเราสงบแล้ว มันจะเป็นคล้ายๆกับน้ำมันไหลนิ่ง โยมเคยเห็นน้ำไหลนิ่งไหม แน่ะ ก็โยมเคยเห็นแต่น้ำนิ่ง กับน้ำไหล น้ำไหลนิ่งโยมไม่เคยเห็น ตรงนั้นแหละ ตรงที่โยมคิดยังไม่ถึงหรอกว่า มันเฉยมันก็เกิดปัญญาได้ เรียกว่าดูใจของโยมมันจะคล้ายน้ำไหล แต่ว่านิ่ง ดูเหมือนนิ่ง ดูเหมือนไหล เลยเรียกว่า น้ำไหลนิ่ง มันจะเป็นอย่างนั้น ปัญญาเกิดได้[2] | ||
เมื่อเราเกิดมาแล้ว โยม ก็คือเราตายแล้วนั่นเองแหละ ไอ้ความแก่กับความตาย มันก็คืออันเดียวกันนั่นแหละ เหมือนกับต้นไม้อันหนึ่งต้น อันหนึ่งปลาย เมื่อมีโคนมันก็มีปลาย เมื่อมีปลายมันก็มีโคน ไม่มีโคนปลายก็ไม่มี มีปลายก็ต้องมีโคน มีแต่ปลายโคนไม่มีก็ไม่ได้ มันเป็นอย่างนั้น[1] | ||
ต้นไม้ผลิดอกออกผล มีนกมาเกาะกิ่งไม้ แล้วจิกกินผลไม้นั้น จะหวานหรือเปรี้ยว เป็นเรื่องของนกที่จะรู้ได้ แต่ต้นไม้ไม่รู้อะไรเลย อย่าเป็นพระพุทธเจ้า อย่าเป็นพระอรหันต์ อย่าเป็นพระโพธิสัตว์ อย่าเป็นอะไรเลย การ "เป็นอะไร" ก็มีแต่ความทุกข์เท่านั้นแหละ เราไม่มีความจำเป็น ต้องเป็นอะไรสักอย่างหนึ่ง[3] | ||
ถ้าคำสอนใดไม่เป็นไปเพื่อหายพยศ ลดมานะ ละความชั่วแล้ว ก็ไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมของพวกเดียรถีย์ ของพวกชาวนิครนถ์ มันไม่ได้เห็นความจริง ไม่ได้ระบายความทุกข์ออกจากใจ ไม่หายสงสัย ยังไม่ถูกธรรมะ[4] | ||
ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี สิ่งทั้งสามประการนี้ท่านเรียกว่ามรรค อันมรรคนี้ยังมิใช่ศาสนา อีกซ้ำยังไม่ใช่สิ่งที่พระศาสดาต้องการอย่างแท้จริงเลย แต่ก็เป็นหนทางที่จะดำเนินเข้าไป เหมือนกับที่ท่านมาจากกรุงเทพฯ จะมาวัดหนองป่าพง ท่านคงไม่ต้องการหนทาง ต้องการถึงวัดต่างหาก แต่หนทางเป็นสิ่งจำเป็นแก่ท่าน ที่จะต้องมา ฉะนั้น ถนนที่ท่านมหามานั้นมันไม่ใช่วัด มันเป็นเพียงถนนมาวัดเท่านั้น แต่ก็จำเป็นต้องมาตามถนน จึงจะมาถึงวัดได้[5] | ||
อ้างอิง
แก้ไข- ↑ 1.0 1.1 พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท). "บ้านที่แท้จริง". ธรรมะ หลวงปู่ชา สุภัทโท. เรียกข้อมูลเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2558
- ↑ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท). "น้ำไหลนิ่ง". ธรรมะ หลวงปู่ชา สุภัทโท. เรียกข้อมูลเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2558
- ↑ คณะศิษยานุศิษย์, อุปลมณี (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, พ.ศ. 2535)
- ↑ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท). "กบเฒ่านั่งเฝ้ากอบัว". Venerable Ajahn Chah. เรียกข้อมูลเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2558
- ↑ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท). กุญแจภาวนาและตามดูจิต. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ธรรมดา, พ.ศ. 2549)