รังสิมันต์ โรม (ชื่อเล่น โรม; เกิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1992 ที่จังหวัดภูเก็ต) เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง อดีตผู้ช่วยเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคอนาคตใหม่ โฆษกคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน

รังสิมันต์ โรม เมื่อปี ค.ศ. 2019

คำพูด

แก้ไข
  • ประเด็นแรก ทัศนคติของศาลเรื่องกบฏ เวลาพูดถึงกฎหมายเกี่ยวกับกบฏ มีมาตรา 113 โทษถึงประหาร กับมาตรา 114 (การตระเตรียม) โทษจำคุก 3-15 ปี แต่เราไม่เคยเห็นนายทหารระดับสูงถูกนำตัวมาลงโทษในสองมาตรานี้ ขอเท้าความเชิงประวัติศาสตร์ว่าสองมาตรานี้มีมานานมากตั้งแต่กฎหมายตราสามดวง และประสบปัญหาคล้ายปัจจุบันเช่นกัน เพราะไม่มีที่ใช้เนื่องจากสังคมเราอยู่บนพื้นฐานอำนาจที่เป็นจริง ใครขึ้นมามีอำนาจเราก็ไม่ต้องตั้งคำถามถึงที่มา กฎหมายเป็นเรื่องรอง สองมาตรานี้พัฒนามาเรื่อยจนมีการปฏิรูประบบกฎหมาย จึงมีกฎหมายลักษณะอาญา รศ.127 อย่างไรก็ตาม ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองจะใช้สองมาตรานี้ได้ต้องเป็นดุลยพินิจของพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง มีการแบ่งแยกอำนาจ หลักกฎหมายเริ่มมีความเด่นชัดมากขึ้น แต่ก็น่าเสียดาย เวลามีคดีเกิดขึ้นจริงๆ กลับไม่มีภาพเด่นชัด การปรับใช้สองมาตรานี้มีปัญหาเพราะตุลาการปัจจุบันของไทยไม่ใช่ตุลาการที่ออกแบบมาในระบอบประชาธิปไตย มันเหมือนอยู่คนละยุคสมัย มีหลายคดีที่ไม่ได้เป็นหลักกฎหมายแต่มันสะท้อนแนวคิดอนุรักษ์นิยมของตุลาการ จากการศึกษาในช่วงปี 2490-2500 มีคำพิพากษาจำนวนมากที่ตุลาการไทยรับรองอำนาจของคณะรัฐประหาร เรียกว่าตุลาการมีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้การรัฐประหารสัมฤทธิ์ผล เช่น ปี 2495 ศาลพิพากษาว่า การล้มล้างรัฐบาลเก่าแล้วตั้งรัฐบาลใหม่โดยใช้กำลังนั้น ตอนต้นอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนกว่าประชาชนจะยอมรับนับถือแล้วจึงถือเป็นรัฐบาลตามความเป็นจริง และหากมีผู้ก่อการกบฏล้มล้างรัฐบาลดังกล่าวก็ต้องเป็นความผิดฐานกบฏ  ฯลฯ คณะรัฐประหารและองค์กรตุลาการมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึง ทั้งสองอย่างตั้งอยู่บนการรักษาอำนาจของกันและกัน ดังนั้นมาตรา 113,114 จึงไม่มีโอกาสได้ใช้ อย่างไรก็ตาม ในมุมหนึ่งศาลก็คงกลัวปืนเหมือนพวกเรา แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผมไม่เชื่อว่าคณะรัฐประหารจะกล้าทำอะไรศาลไทย ผมเชื่อว่าศาลมีบารมีจำนวนหนึ่งในการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย แต่ศาลไม่เคยทำบทบาทนั้น กฎหมายก็มีรับรองแต่ศาลไม่เคยใช้ ทำให้ที่ทางของกฎหมายนี้เป็นหมันในทางปฏิบัติ ถามว่าศาลไม่เคยต้านคณะรัฐประหารเลยใช่ไหม จริงๆ ไม่ใช่ ศาลเคยออกมาต่อสู้เหมือนกัน แต่เป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องตัวเอง ปี 2515 ช่วงกฎหมายโบว์ดำ เป็นกฎหมายที่เหมือนล้วงลูกเข้ามาในแดนอำนาจของศาล ศาลประท้วง และภายในสองสัปดาห์คณะรัฐประหารช่วงนั้นต้องยกเลิก ในช่วงรปห.2534 ศาลโต้กับพวกรัฐประหาร ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีมติปี 2536 ไม่ยอมรับประกาศ รสช.ฉบับ 26 การตั้งคณะบุคคลให้มีอำนาจพิพากษาอรรถคดีเช่นเดียวกับศาลย่อมขัดต่อระบอบ ขัดหรือแย้งต้องธรรมนูญการปกครอง ถ้าใครถามว่าระหว่างศาลกับกองทัพควรปฏิรูปใครก่อน ผมลังเลมาก แต่ก่อนผมว่ากองทัพ แต่ตอนนี้ผมคิดว่าศาลนั้นปัญหาหนักจริงและเป็นแดนสนธยาที่เราไม่อาจรู้อะไรได้เลย และหลายครั้งอำนาจของศาลกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของคณะรัฐประหาร เมื่อไรก็ตามที่ศาลพิพากษามันลำบากที่ประชาชนจะฝ่าฝืนต่อสู้กับคำพิพากษา ดังนั้น ผมจึงคิดว่าศาลควรต้องปฏิรูปก่อนกองทัพแล้ว ขอทิ้งท้ายด้วยคำพูดของผู้พิพากษาบางคนที่น่าสนใจ แต่น่าเสียดายที่มันมีน้อยเหลือเกิน “หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบ และเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาระบอบประชาธิปไตย...เป็นการส่งเสริการปฏิวัติรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป
    • อภิปรายในงานเสวนา เรื่อง "ตุลาการในสถานการณ์พิเศษ" ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

การแสดงความเห็นทั่วไป

แก้ไข
  • เวลากองทัพ หรือ คสช. ตกเป็นที่วิจารณ์ของสังคม ก็มักจะมีเรื่องอื่นๆแทรกขึ้นมาเสมอ ทำให้บางประเด็นที่่ควรจะขุดคุ้ยอย่างถึงรากถูกละเลยและไม่ได้รับการแก้ไข  ตัวอย่างหนึ่งคือ ขณะที่สังคมกำลังวิจารณ์บรรดาทหารที่แวดล้อม คสช. โดยเฉพาะน้องชายพลเอกประยุทธ ว่าไม่ทำงาน รับเงินเดือนฟรีๆ หรือเปิดบริษัทที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับตำแหน่งหน้าที่ของตน พลเอกประยุทธ พี่ชายพลเอกปรีชาได้ใช้มาตรา 44 เข้าจับธัมมชโย ทำให้สื่อจำนวนมากแห่ไปทำข่าวที่ธรรมกาย เปิดโอกาสให้บิ๊กติ๊กได้พักหายใจหายคอ ไม่รู้ทำไมเวลามีตั้งมากมายจึงได้เลือกจังหวะนี้ในการบุกวัดพระธรรมกาย คงไม่เกินไปกระมังที่จะสงสัยว่าข่าววัดธรรมกายครั้งนี้ คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดในเรื่องนี้จริง คือ บิ๊กติ๊ก น้องชายพลเอกประยุทธ
  • ในการเรียนกฎหมาย คำๆหนึ่งที่เราที่มักได้ยินอยู่เสมอ คือ "วิญญูชน" ในคลิปนี้เป็นตัวอย่างอันดีว่าวิญญูชนจะเข้าใจอย่างไรเมื่อได้ฟังข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับไผ่ คงไม่ถูกต้องที่จะบอกว่ากฎหมายทุกบทจะต้องเป็น mala in se หรือ สิ่งที่ผิดในตัวมันเอง เพราะกฎหมายบางอย่างก็มีเหตุผลที่เทคนิคมากๆ แต่เราก็สามารถแสวงหาความเข้าใจได้ ว่าเพราะอะไรจึงต้องบัญญัติกฎหมายเช่นว่านั้น เมื่อเราพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดกับไผ่ เราคงไม่อาจจะหยิบยกทฤษฎีกฎหมายใดๆที่เคยเรียนมาอธิบายว่าเหตุใดไผ่จึงมีชะตากรรมดังกล่าวได้ แต่เราสามารถเรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับไผ่นั้นได้ว่า "ความอยุติธรรม" และเมื่อความอยุติธรรมปรากฏกายขึ้น ก็ถึงเวลาที่นักกฎหมายต้องวางตำรา
  • สมัยก่อนผมอินกับพวกคดีสะเทือนอารมณ์คนในสังคมมากๆ(แน่นอนใครๆก็อิน) ส่วนหนึ่งเพราะผมเรียนกฎหมายมา ซึ่งก็เบื่อกับการที่ต้องมานั่งปรับบทกฎหมายแค่ในข้อสอบ เลยอยากเอามาทดลองใช้อธิบายกับสิ่งที่ปรากฎในสังคมดู เพื่อหวังว่าไอความรู้ที่เราเรียนมาจะพอช่วยความกระจ่างให้กับคนอื่นๆได้ หลังจากที่เรียนจบ ชีวิตได้ไปผจญภัยในเรือนจำมาสองหน ผมได้เห็นว่าไอคนพวกนี้มันก็คนเหมือนๆกับเรานี่หว่า ในบางมุมเขาอาจจะเป็นคนเลวร้าย แต่อีกมุมเขาก็เป็นคนปกติดีเหมือนกับเรา ผมได้มีโอกาสเจอคนที่หลายๆคนกล่าวประณามสาปแช่งให้ตายวันตายพรุ่ง ได้มีโอกาสสนทนากับคนเหล่านี้ถึงชีวิตความเป็นไปของเขา บางคนก็เล่าให้ผมฟังตั้งแต่เด็กๆว่าเขาเติบโตมายังไง มีเมียกี่คน มีลูกกี่คน หลังจากติดคุกแล้วลูกเมียยังมาเยี่ยมไหม บทเรียนอย่างหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากคนเหล่านี้คือ “เขาอยู่คนละโลกกับเรา” บางคนไม่ได้มีกินสามมื้อ บางคนไม่มีเงินซื้อชุดนักเรียนให้ลูก สุดท้ายลูกมีทัศนคติไม่ดีกับการเรียนเลยเลิกเรียน บางคนเรียนในโรงเรียนที่เมื่อจบ ม.3 เกินครึ่งชั้นมักไม่เรียนต่อ และมีลูกก่อนอายุ 18 นี่ไม่นับอีกหลายคนที่เกิดมาแต่เด็กจนโตแวดล้อมไปด้วยอาชญากรรมต่างๆอีกมากมาย บทสรุปของบทเรียนแรกของผมหลังจากเรียนจบ คือ ผมแม่งไม่เคยเข้าใจคนเหล่านี้เลยวะ ที่ผ่านมาเรามักเอาความคิดของเรา(ที่เติบโต มีชีวิตในโลกอีกแบบ)มาใช้ในการตัดสินเขา เราเอาความดีในแบบที่กระเป๋าเรามีตังค์ในทุกเดือน ไปตัดสินคนอื่นว่าเลว โดยไม่พิจารณาว่าแค่มีข้าวกินสามมื้อแม่งโคตรลำบากแค่ไหน และเรามักเอาคนติดคุกเพียงเพราะเมื่อปรับข้อเท็จจริงเข้ากับกฎหมายแล้วพบว่ามีโทษจำคุกถึงขั้นประหารนี่หว่า โดยไม่ดูว่าก่อนที่เขาจะลงมือฆ่าคนๆหนึ่ง เขาอาจจะถูกซ้อมมาทั้งชีวิตก็ได้ ในระยะหลัง ผมจึงไม่ค่อยโพสต์แสดงออกในคดีแบบนี้ แม้ดูคลิปต่างๆแล้วมันจะสะเทือนใจก็ตาม เพราะส่วนหนึ่งผมรู้สึกว่าผมไม่เคยเข้าใจในสิ่งที่พวกเขาทำเลยว่ามันเกิดจากอะไร เมื่อเราไม่เข้าใจเขาก็ย่อมไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริง ทำได้เต็มที่ก็คือเอาคนเหล่านี้ไปขังในเรือนจำไว้สักระยะหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นเมื่อเขาออกมาจากเรือนจำก็จะพบว่าชีวิตแม่งทำมาหากินยากกว่าเดิม ในหลายที่ทำงานตรวจประวัติอาชญากรรม ลูกเมียก็ทิ้ง ไม่เหลืออะไรในชีวิต สุดท้ายไม่มีทางเลือกชีวิตก็กลับไปก่อคดีอีก วนไปเวียนมาแบบนี้ไปเรื่อยๆ ถึงที่สุดแล้วผมเลยคิดว่า การแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดคดีเหล่านี้อีกมันต้องแก้ทั้งระบบ ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตลอดจนการให้โอกาสในการเริ่มชีวิตใหม่ สิ่งเหล่านี้มันความสัมพันธ์กันเสมอ ซึ่งการจะทำจริงในทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ผมเองก็ไม่มีข้อเสนอที่ดีอะไรนัก แต่การจับคนไปติดคุกเยอะๆนี่ไม่ใช่ทางออกที่ดีแน่ๆ