สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย (เกิด 15 มกราคม พ.ศ. 2496) รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 1 เป็นกรรมการในคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ กรรมการในคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ กรรมการในคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง อดีตรักษาการประธานวุฒิสภา อดีตรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 และอดีตสมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหา เป็นนักกฎหมายและเนติบัณฑิตไทย

คำพูด แก้ไข

  ผมยังรอการพูดคุยกับรัฐบาลในนาทีสุดท้าย และทุกนาทีมีค่า ผมอยากให้รัฐบาลทราบว่าอย่าลังเลในการพูดคุย ผมมองว่าการพูดคุยไม่มีอะไรเสียหาย และเห็นว่ามีประโยชน์ เพราะจะเป็นการส่งสัญญาณไปยังสังคมว่ารัฐบาลได้ร่วมกับวุฒิสภาในการหาทางออกและได้สร้างบรรยากาศที่ดี อย่างไรก็ตามวุฒิสภาเปิดประตูรอรัฐบาลอยู่ หากรัฐบาลไม่ช่วยก็ไม่รู้จะทำอย่างไร อย่างไรก็ตามผมไม่มีอำนาจสั่งการหรือบัญชาฝ่ายรัฐบาลได้[1]  
  คอยดูจะมีคนเอาไปพูดว่าแนวทางที่เสนอ เพราะวุฒิสภาคิดเอง รัฐบาลไม่ได้ร่วมคิด ทั้งที่วุฒิสภาพยายามให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม หากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือและมีความหวังดีกับประเทศชาติ เราจะฝ่าวิกฤตไปได้ ถ้าทำงานถึงที่สุดแล้วมีคนค้าน ผมก็จนปัญญา[1]  
  จุดเริ่มมาจากส.ส. ฉะนั้นจึงฝากกลับไปยัง ส.ส.ว่าท่านคือด่านแรกที่จะพิจารณาเสนอชื่อต่อที่ประชุมรัฐสภา ว่าผู้ที่มีความเหมาะสมในการทำหน้าที่เป็นนายกฯเป็นใคร และควรเป็นคนที่ส.ส.เห็นชอบเป็นเสียงส่วนใหญ่ก่อน[2]  
  ตำแหน่งหน้าที่การงานใด ๆ ก็ตาม เป็นเพียงสิ่งบ่งบอกว่า "เรามีหน้าที่" มิใช่เครื่องหมายหรือสิ่งบ่งบอกว่า "เราเป็นผู้มีอำนาจ มีบารมี"  
  วุฒิสภาได้ประสานทุกภาคส่วนของสังคม โดยจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เช่น องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม องค์กรภาคเอกชน อธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ผลการจัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความเห็น ทุกเวทีเห็นตรงกันให้วุฒิสภาทำการแก้ไขวิกฤติชาติ เพื่อยับยั้งความเสียหายไม่ให้ขยายตัว ดังนั้นวุฒิสภาจึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. ให้มีการแก้ไขวิกฤติชาติ โดยคืนความสงบสุข ความสมานฉันท์ของคนในชาติ ด้วยการจัดให้มีปฏิรูปประเทศทุกด้าน ซึ่งต้องมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีอำนาจเต็มเพื่อดำเนินการ 2. เรียกร้อง ครม.ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ขณะนี้ รัฐบาล และพรรคการเมืองทุกพรรค ให้ความร่วมมือกับวุฒิสภาในการหาทางออกประเทศ ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนในชาติอย่างเต็มกำลังและลดเงื่อนไขความรุนแรงขัดแย้ง 3. วุฒิสภาพร้อมทุ่มเทการทำงานอย่างหนักและต่อเนื่อง โดยจะนำความเห็นทุกภาคส่วนมาพิจารณาประกอบ และหากจำเป็นวุฒิสภาจะอาศัยข้อบังคับประชุมของวุฒิสภา เปิดประชุมเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้ได้มาซึ่งนายกฯ ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ตามประเพณีทั้งของสากล และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย[1]  
  ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ เราหวังจะได้รับความร่วมมือจากรัฐบาล พรรคการเมือง และจากทุกภาคส่วนในสังคม โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกคนจะตระหนักถึงวิกฤติชาติและร่วมมือฝ่าฟันวิกฤติชาติให้จงได้ สำคัญที่สุดหวังว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งจะยอมเสียสละ ลดละความคิดดังเดิม ร่วมมือกับวุฒิสภา ก้าวไปสู่การฝ่าฟันวิกฤติไปพร้อมกัน[1]  

อ้างอิง แก้ไข