เรื่องประโยชน์แห่งพระพุทธศาสนา

สถานีวิทยุ อ.ส. เป็นสถานีวิทยุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร ที่พระราชวังดุสิต สถานีวิทยุเผยแผ่บทพระธรรมเทศนา เมื่อครั้งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงผนวช มีเนื้อหา ดังนี้


ประโยชน์แห่งพระพุทธศาสนา
 

“ วันนี้เป็นวันสุดท้าย ที่จะได้สนทนาธรรมทางวิทยุ จึงจะได้กล่าวถึงพระพุทธศาสนา คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแลประโยชน์แห่งคำสั่งสอนนั้น ในที่นี้ขออัญเชิญพระราชดำรัส ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับพระพุทธศาสนามาให้ได้ฟังทั่วกันก่อน

 
“ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่กว้างขวาง แลเหมาะสมทุกกาลสมัย พระพุทธศาสนานั้นแบ่งออกได้เป็นสามภาค คือภาคจริยวัตร การบำเพ็ญความดี ภาคจิตวิทยา การศึกษาให้รู้จักตน รู้จักจิตใจแลความรู้สึกของตน และภาคปรัชญา คือการศึกษาหาความรู้ในแก่นสารของสิ่งทั้งปวง ในภาคจริยวัตร คือการบำเพ็ญความดีหรือความชั่วนั้น พระพุทธศาสนาถือเอาความสุขความทุกข์ของตนแลคนอื่นเป็นเกณฑ์ จึงมีเหตุแห่งความดีชั่วอันแน่นอนยึดถือได้ ในภาคจิตวิทยาพระพุทธศาสนาก็ให้ความรู้อันมีค่า คือความรู้จักตนแลจิตใจตนดีขึ้น ส่วนในทางปรัชญานั้น พระพุทธศาสนาก็ให้ความรู้กว้างขวาง และปลอดโปร่ง เพราะผู้ศึกษาใช้ความคิดได้เต็มที่โดยไม่ถูกผูกมัดไว้ด้วยความยึดถือพระเจ้า ”

 พระราชดำรัสที่อันเชิญมานี้ สรุปจากพระราชกระแสขณะมีพีฃระราชปฏิสันถาร อาจมิตรงในถ้อยคำ แต่เป็นเนื้อความของพระราชดำรัส และเป็นข้อความที่ชี้ให้เห็นลักษณะ และประโยชน์ของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดียิ่ง ศัพท์ที่ทรงใช้นั้นเป็นศัพท์ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน ถ้าหากจะเรียกตามที่ท่านแสดงไว้ ภาคจริยวัตรของพระพุทธศาสนาก็คือศีล ภาคจิตวิทยาก็คือสมาธิ และภาคปรัชญาก็คือปัญญา พระพุทธเเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ว่า ธรรมทั้งสามประการ คือศีล สมาธิ ปัญญา นี้เป็นธรรมอันควรเจริญอย่างยิ่ง เพื่อถึงปฏิเวธ คือความรอดพ้นจากทุกข์ ด้วยความบริสุทธิ์อันแท้จริงและความรู้อันแท้จริง

 ประโยชน์ของคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ท่านแสดงไว้ว่ามีอยู่สาม คือปรมัตถะประโยชน์ เป็นประชั้นสูงที่สุด ได้แก่ประโยชน์แห่งความรู้จริงเห็นจริงในความจริงอันเป็นแก่นแท้และแน่นอนในสรรพสิ่งทั้งปวง อันความจริงทั้งหลายที่เราประสพพบเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นความจริงที่เราสมมติขึ้นด้วยภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อถือหรือในบางกรณีก็สมมติขึ้นว่า เป็นความจริงด้วยความรัก ความโกรธ ความโลภ ความหลง ตลอดจนการยึดถือว่าเป็นความจริงเอาตามที่บอกเล่าเข้าใจกันมา แต่ความจริงอันเป็นปรมัตถะประโยชน์นั้นเป็นความจริงแท้ บุคคลย่อมพิจารณาเห็นจริงแลรู้ความจริงนั้นได้ เมื่อละกิเลศตัณหาให้สิ้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงเชื้อชาติภาษา ที่อยู่แลขนบธรรมเนียมประเพณีหรือกาลสมัย

 ประโยชน์ที่สองคือ ทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์คือประโยชน์ในปัจุบัน ธรรมอันเป็นจริยวัตร ให้บำเพ็ญความดีนั้นย่อมนำมาซึ่งประโยชน์แก่ตัวผู้ประพฤติธรรมนั้นเป็นอย่างยิ่ง คนที่ยังทุกข์เมื่อประพฤติธรรมแล้วก้จะสุข คนที่เดือดร้อนวุ่นวาย เมื่อประพฤติธรรมแล้วก็จะถึงซึ่งความสงบและคนที่ตั้งตัวไม่ได้ก็จะตั้งตัวได้ ทั้งนี้เป็นประโยชน์ในปัจจุบัน ซึ่งพระพุทธศาสนาให้แก่บุคคลได้
ประโยชน์ที่สาม คือสัมปรายิกัตถะประโยชน์นั้น คือประโยชน์อันจักเกิดขึ้นในอนาคตหรือในภายหน้า บุคคลที่ได้รับทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์แล้ว ย่อมพร้อมอยู่ด้วยคุณธรรมอันดีเสมอ ด้วยเหตุนี้จึงบำเพ็ญแต่ความดี ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบต่อผู้อื่นเป็นนิจ เมื่อกระทำแต่กรรมอันดีปราศจากความชั่ว ผลที่จักเกิดขึ้นต่อไปก็จะต้องเป็นผลดีโดยมิต้องสงสัย คนที่อยู่ด้วยกันเป็นหมวดหมู่หรือเป็นชาติเดียวกัน ตลอดจนเป็นเพื่อนร่วมโลกด้วยกันนั้นเมื่อประพฤติในสัมปรายิกัตถะต่อกันและกัน ก็จะอยู่ด้วยกันเป็นสุข สิ่งที่จะเกิดขึ้นภายหน้า อันเป็นผลของสัมปรายิกัตถะนั้น ย่อมจะต้องเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น

 ประโยชน์ในปัจจุบัน เป็นประโยชน์ที่ได้รับในขั้นแรก แม้ยังมิได้บรรลุถึงปฏิเวธ ประโยชน์นั้นก็ย่อมเกิด แต่เมื่อบุคคลยังมิได้รอดพ้น ก็จักเวียนว่ายตายเกิดต่อไป ผู้ที่บำเพ็ญความดี ก็จะได้รับสัมปรายิกัตถะประโยชน์ในอนาคตทั้งในชาตินี้และในชาติหน้า มากน้อยตามกรรมที่ได้ทำไว้ ส่วนปรมัตถะประโยชน์เป็นประโยชน์ขั้นสุดท้าย บุคคลใดได้บรรลุถึงแล้วก็จะสิ้นทุกข์ทั้งปวง ไม่เกิดแก่เจ็บตายอีกต่อไป ตั้งอยู่ในที่รู้ที่บริสุทธิ์ พ้นจากความชั่วแลความทุกข์ทั้งหลาย อันเนื่องมาจากการเกิดแก่เจ็บตายนั้น

”



ที่มา : บันทึกบทธรรมบรรยาย จากภาคผนวก ๖ หนังสือในหลวงกับประชาชน วาระ ๔๕ ปี สถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต (รายการวิทยุ แสดงธรรมโดย พระโสภณคณาภรณ์)