เรื่องโพชฌงค์ ๗

สถานีวิทยุ อ.ส. เป็นสถานีวิทยุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร ที่พระราชวังดุสิต สถานีวิทยุเผยแผ่บทพระธรรมเทศนา เมื่อครั้งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงผนวช มีเนื้อหา ดังนี้



โพชฌงค์ ๗
 

“ วันนี้จะได้กล่าวถึงธรรมอันเป็นผลของการตั้งอยู่ในสติปัฏฐาน เรียกว่าโพชฌงค์อันมีอยู่ ๗ อาการ

ได้กล่าวมาแล้วในวันก่อนว่าการปฏิบัติในสติปัฏฐานจะเป็นไปได้ต้องอาศัยสัมมัปปธาน สัมมัปปธานต้องอาศัยอิทธิบาท
อิทธิบาทต้องอาศัยอินทรีย์ อินทรีย์ต้องอาศัยพละ เมื่อสติปัฏฐานเจริญพร้อมแล้วก็เลื่อนขึ้นเป็นชั้นโพชฌงค์ คือองค์แห่งความตรัสรู้
ธรรมอื่น ๆ ตั้งแต่พละจนถึงสติปัฏฐาน เป็นธรรมอันเป็นเหตุที่ควรบำเพ็ญเพื่อผล และผลแห่งการบำเพ็ญธรรมนั้น ๆ ก็คือโพชฌงค์
เป็นองค์แห่งความสำเร็จและความตรัสรู้ เป็นคุณสมบัติอันสูงยิ่งที่เกิดขึ้นแก่ผู้มีความเพียรบำเพ็ญตนปฏิบัติธรรมอันชอบ
จะได้กล่าวถึงโพชฌงค์ทีละอาการจนครบ ๗ อาการดังต่อไปนี้

 สติสัมโพชฌงค์ เมื่อได้ใช้สติปัฏฐานตั้งสติจนถูกต้องพร้อมมูลแล้ว สตินั้นก็เลื่อนขึ้นเป็นสติสัมโพชฌงค์
เป็นสติอันบริบูรณ์แน่นอนด้วยสภาพของตัวเองไม่มียิ่งหย่อนอีกต่อไป เป็นองค์แห่งความตรัสรู้อันเป็นปัญญาพร้อมมูลด้วยสติ.

 ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ เมื่อมีสติบริบูรณ์ดีจนเป็นโพชฌงค์แล้ว ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ก็เกิด
คือด้วยสติอันพร้อมและปัญญาอันถึงที่สุด สามารถเลือกเฟ้นหรือวิจัยธรรมที่ประพฤติปฏิบัติอยู่นั้นด้วยความเป็นจริง
ให้รู้ตามที่เป็นจริง ไม่หลงอารมณ์ที่เกิดขึ้นเพราะการปฏิบัติธรรมและการประพฤติ เป็นองค์ปัญญาแห่งการตรัสรู้อีกอาการหนึ่ง

 วิริยสัมโพชฌงค์ เมื่อพร้อมด้วยสติและปัญญาสามารถวิจัยธรรมทั้งหลายได้ด้วยความเป็นจริง ความเพียรบากบั่นที่สมบูรณ์ที่สุดก็เกิดขึ้น
และมีอยู่ตลอดไปอย่างแน่นอน ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องต่อสู้กับความเกียจคร้านหรือความท้อถอยอีกต่อไป ปราศจากนิวรณ์ทั้งปวง

 เมื่อโพชฌงค์ทั้งสามประการที่ได้กล่าวถึงนี้มาประกอบกันเข้าแล้ว ความมัวหมองใด ๆ ที่มีในใจก็หมดสิ้น
ความชั่วและความทุกข์ก็ถูกกำจัดไปจนหมด บังเกิดความปีติอิ่มเอิบใจ เป็นความสุขที่เหนือความสุขใดที่จะหาได้ในโลก
ทั้งนี้เรียกว่า ปีติสัมโพชฌงค์องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้

 ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เมื่อความปีติเกิดขึ้น แลจิตปราศจากความมัวหมอง ไม่มีนิวรณ์ ไม่มีทุกข์ ไม่มีกิเลศตัณหา
ปัสสัทธิคือความสงบอันแท้จริงก็เกิดขึ้น เป็นความสงบที่เกิดขึ้นจากการที่ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมอันชอบจนบังบเกิดความอิ่มเอิบใจ
รู้แน่ด้วยปัญญาว่าได้ลุถึงความสำเร็จแล้ว จึงบังเกิดความสงบอยู่ในธรรมนั้น เปรียบประดุจนายช่างที่กำลังสร้างศิลปวัตถุบางอย่างเช่นพระพุทธปฏิมา
เมื่อได้ใช้ความคิดอย่างหนักทุ่มเทกำลังกายกำลังใจทั้งหมดเข้าใส่การสร้าง ด้วยความรู้ความเพียรและสติของตน
จนบังเกิดผลเป็นพระพุทธปฏิมาที่ตนเห็นว่างามด้วยใจตน อิ่มเอิบใจและพอใจ ปีติในผลงาน ความสงบในการงานนั้นเกิดขึ้น
จิตไม่ดิ้นรนขวนขวาย หรือฟุ้งซ่านอีกต่อไป

 สมาธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความตรัสรู้คือสมาธิ เมื่อความสงบเกิดขึ้น ปราศจากนิวรณ์และกิเลศตัณหาทั้งปวง
สมาธิคือความตั้งจิตมั่นไม่หวั่นไหวได้ก็เกิดขึ้น สมาธิอันเลื่อนขึ้นเป็นโพชฌงค์แล้วนั้นไม่มีคลี่คลายหวั่นไหว
จิตเป็นสมาธิประกอบด้วยปัญญาอยู่เป็นนิจมิใช่สมาธิที่ลืมตนขาดปัญญาคือความรู้

 อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เมื่อบังเกิดมีสมาธิสัมโพชฌงค์ ปัญญาที่พิจารณาเห็นตามเป็นจริงอันเป็นอุเบกขาก็เกิดขึ้น
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ มิใช่อุเบกขาในทางที่วางตนเป็นกลาง หรือการหลีกเลี่ยงจากความจริงไม่ยอมรับรู้หรือสนใจ
เพราะไม่อยากให้ใจเกิดทุกข์ แต่เป็นอุเบกขาอันสมบูรณ์กล่าวคือไม่หลีกเลี่ยงความจริง ยอมรับรู้ความจริงทุกอย่างด้วยความสนใจ
ไม่ว่าความจริงนั้นจะชั่วหรือดี ทุกข์หรือสุข และเมือ่ได้พิจารณาดูความเป็นจริงทั้งปวงนั้นแล้วก็ยอมรับเข้าเป็นความรู้
ไม่คิดแก้ไข ไม่ยินดีในความจริงที่ดี และไม่ยินร้ายในความจริงที่ไม่ดี จิตมีอาการอันเป็นปกติแน่นอน ไม่ยินดียินร้าย
ไม่หวั่นไหวหรือหวาดหวั่น เป็นอาการสุดท้ายแห่งโพชฌงค์ คือองค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้คืออุเบกขา
มองดุธรรมทั้งปวงด้วยความสนใจด้วยความรู้ในฐานะเหมือนกับว่าตนเองอยู่นอกเหนือธรรมทั้งนั้น ไม่มีผลได้เสียเกี่ยวข้อง

 ผู้ที่ถึงพร้อมอยู่ด้วยโพชฌงค์ ๗ ก็ถึงซึ่งมรรคมีองค์แปดในลักษณะที่เป็นมัคคสามัคคี จิตหยุดนิ่งบริบูรณ์ด้วยปัญญา
การปฏิบัติทั้งปวงก็พร้อมด้วยปัญญาคือความรู้ เป็นผู้รู้ปฏิบัติกับสิ่งที่รู้ด้วยความรู้ ไม่มีทางที่จะผิดพลาดได้เลย.

”