เหตุการณ์ 6 ตุลา
เหตุการณ์ 6 ตุลา (พ.ศ. 2519) เป็นการปราบปรามนักศึกษาและผู้ประท้วงในและบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง ซึ่งตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน มีการปักหลักชุมนุมประท้วงการเดินทางกลับประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 19 กันยายน ในวันที่ 6 ตุลาคม ตำรวจและกำลังกึ่งทหารฝ่ายขวายิงปืนเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ สถิติอย่างเป็นทางการระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 46 คน ซึ่งมีทั้งถูกยิงด้วยอาวุธปืน ถูกทุบตี ถูกเผา โดยสถิติจากมูลนิธิป๋วยคาดการณ์ตัวเลขผู้เสียชีวิตมีมากกว่า 100 คน
คำคม
แก้ไข- "จักแก้แค้นแทนสหายคนกล้า
- จักต่อสู้เพื่อประชาไปตลอดกาล
- จักสร้างสรรค์สังคมแห่งอุดมการณ์
- อีกไม่นานจะเอาธงแดงปักกลางนคร
- "สหาย" โดย กรรมาชน
- เหตุการณ์ที่ฝ่ายขวาก่อขึ้นมาในบ่ายวันที่ 5 ตุลาคม 2519 นั้นเหมือนกับผู้ดูดเลือดที่เมื่อถูกปลุกขึ้นมาแล้วไม่มีใครสามารถควบคุมได้ ไม่มีใครสามารถทำให้มันสงบลงได้จนกว่ามันจะได้ดื่มเลือดคนจริงๆ
- เจียมธีรสกุล, สมศักดิ์, ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง[1]
- เกรียงศักดิ์: ที่มันยืดยาว รู้รึเปล่ามันเป็นยังไง เราถ่วงหรือใครถ่วงกันแน่”
- สุธรรม: ผมว่าพยานมันเยอะ ฝ่ายโจทก์เองก็เยอะ ตามธรรมดาการพิสูจน์คดีในศาลก็ต้องใช้เวลานานอยู่แล้ว
- เกรียงศักดิ์: ไม่มีใครถ่วง?
- สุธรรม: ไม่มีใครถ่วง แต่ที่โจทก์เขานำสืบมันไม่มีอะไรเลย ไม่ได้เกี่ยวกับพวกผมเลย ผมก็ว่าแปลก ทำไมต้องเสียเวลาถึงขนาดนั้นในการนำพวกผมกลับคืนสู่.. ไม่มีส่วนไหนที่เป็นความผิดของพวกผมเลย
- เกรียงศักดิ์: ก็ลืมกันไป ลืมให้หมด... เหมือนฝันไปนั่นแหละ
- สุธรรม: ฝันร้าย..
- เกรียงศักดิ์: โยนมันทิ้งไป เขาว่ายังไงนะ เอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง
- บทสนทนาโต้ตอบระหว่างพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 15 กับสุธรรม แสงประทุม อดีตแกนนำศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา, 17 กันยายน 2521 (สองวันหลังมีการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และหนึ่งวันหลังผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัว)[2]
- เทศนา 2 กัณฑ์ของเขา [นายพล ณ] ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีอะไรเกี่ยวกับ 6 ตุลาเลยสักนิด อาจเป็นการประจัญบานเข้าใส่ผู้เขียน [ธงชัย] โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาแก้ต่างแก้ตัวใด ๆ ว่าควาจริงที่ทั้งเขาและผู้เขียนรับรู้ตรงกันนั้น เขาไม่เห็นจะเป็นเรื่องผิดตรงไหน เพราะต่อให้สิ่งที่ผู้เขียนรู้อยู่นั้นเป็นความจริงทั้งหมด ผู้เขียนก็ยังคงเป็นฝ่ายผิดอยู่ดี และเขายังคงเป็นฝ่ายถูกต้องอยู่ดี
- หมายเหตุ: นายพล ณ เป็นนายพลเกษียณอายุที่ธงชัยขอเข้าสัมภาษณ์
- ธงชัย วินิจจะกูล. (2553). "6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519–2549 : จากชัยชนะสู่ความเงียบ (แต่ยังชนะอยู่ดี)" ใน: ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย. มติชน. หน้า 495
- คนมองว่ากระทิงแดงเป็นคนทำ มันชั่วร้าย มันขมขื่นนะ... เราเห็นภาพประวัติศาสตร์ รู้สึกสะท้อนใจ เสียใจ แต่นั่นคือการปิดทองหลังพระ ญาติมิตรของผู้สูญเสีย เขาเสียใจกว่า ไม่มีรัฐบาลไหนพยายามเอาคนผิด คนบงการจริง ๆ มาลงโทษ กลายเป็นตราบาปของกระทิงแดงที่ยอมให้ผู้คนเห็นว่ากระทิงแดงเป็นตัวชั่วร้าย (คนผิด คนบงการจริง ๆ ) โยนบาปให้กระทิงแดง พวกเขาปกปิดความผิดของตนไว้ด้วยการให้กระทิงแดงเป็นแพะรับบาป... เรามีลูกมีหลานของเรา ลูกของเรารู้ว่าพ่อเป็นกระทิงแดง ผมสะท้อนใจกับความรู้สึกของลูกผมเหมือนกัน... ในขณะที่สังคมพูดถึงเราในทางไม่ดี เราจะบอกลูกของเรายังไง เราเป็นจำเลยของสังคม
- ต, อดีตผู้นำกระทิงแดง, ให้สัมภาษณ์ 21 มิถุนายน 2549[3]
- ...ประชาชนคนไทยมีการแสดงออกชัดเจนขึ้น ว่าต้องการอะไร เมื่อแสดงออกมาเช่นนี้ ก็ทำให้รู้ใจกัน และสามารถช่วยกันทำ ช่วยกันสร้างสิ่งที่ต้องการ มีจะมีอุปสรรค แม้ความยากลำบากขัดขวางอยู่ก็ทำได้ ขอเพียงให้ร่วมมือ ร่วมใจกันจริง ๆ...
- ภูมิพลอดุลยเดช, พระบาทสมเด็จพระมหา, พระราชดำรัส 31 ธันวาคม 2519[4]
อ้างอิง
แก้ไข- ↑ เจียมธีรสกุล, สมศักดิ์ (2544). ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก. ISBN 9745728772. หน้า 160
- ↑ 6 ตุลาฯ : เงาสีขาวกับดวงอาทิตย์สีดำ
- ↑ ธงชัย วินิจจะกูล. (2553). "6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519–2549 : จากชัยชนะสู่ความเงียบ (แต่ยังชนะอยู่ดี)" ใน: ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย. มติชน. หน้า 410
- ↑ เผยพระราชดำรัส 'รัชกาลที่9' ประกอบ MV เพลงสรรเสริญพระบารมี